เตาแก๊สชีวมวลที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

จากราคาขายปลีกของเตาแก๊สมีราคาขายตามท้องตลาดสูง ทำให้ไม่เป็นที่นิยมของชาวบ้านตามชนบท อีกทั้งช่องทางสำหรับการใส่วัสดุเชื้อเพลิงไม่สะดวกสำหรับการใช้งาน เนื่องจากมีขนาดเล็กลงมาก จึงเกิดแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างของเตาแก๊สชีวมวลให้มีช่องทางสำหรับเติมวัสดุเชื้อเพลิงเข้าไปภายในห้องเผาไหม้ ตลอดจนศึกษาหาวิธีการลดต้นทุนสำหรับการผลิต เพื่อลดราคาขายปลีกให้ต่ำลงกว่าราคาขายในปัจจุบัน แต่การเพิ่มช่องใส่วัสดุเชื้อเพลิงลงไปในโครงสร้างเตาแก๊สชีวมวล จะส่งผลให้อุณหภูมิภายในเตาลดลงอย่างรวดเร็ว หากติดตั้งผิดตำแหน่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโปรดิวเซอร์แก๊สแบบไหลขึ้น

เตาแก๊สชีวมวลแบบอากาศไหลขึ้นแบ่งออกเป็น 4 ช่วงชั้น โดยช่วงชั้นที่ 4 จะส่งผลกระทบน้อยที่สุด หากเพิ่มเติมอากาศเข้าไปขณะการเผาไหม้วัสดุเชื้อเพลิง จึงสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ระบุถึงการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างเตาแก๊สชีวมวลจะช่วยให้ประสิทธิภาพการเผาไหม้ในห้องเผาไหม้สูงขึ้น เพราะสามารถเติมวัสดุเชื้อเพลิงได้ง่ายและสม่ำเสมอ ผ่านช่องเติมวัสดุเชื้อเพลิงที่พัฒนาขึ้น การผลิตเตาแก๊สชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้มีต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากขั้นตอนและวัสดุการผลิตใช้น้อยกว่า เช่น หูจับถังสีมีมาแล้ว แต่ปี๊บน้ำมันไม่มีต้องสร้างขึ้นใหม่

ส่วนตะแกรงรองขี้เถ้าใช้ได้เลยเพราะเลือกใช้สเตอร์หมดอายุจากรถจักรยานยนต์ แต่ของเตาต้นแบบใช้เหล็กเส้นเชื่อมเป็นตะแกรง ส่วนถาดรองใช้ส่วนหนึ่งของฝาถังสีที่ถูกตัดออกมาพับเป็นถาดสำหรับรองรับขี้เถ้า ขณะที่เตาต้นแบบตัดปี๊บอีกครึ่งใบมาสร้างเป็นถาดรอง ฉนวนกันความร้อนต้นแบบใช้ปูนซีเมนต์ผสมดิน แต่เตาที่ทำขึ้นใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ ส่วนลวดเชื่อมไฟฟ้าเตาต้นแบบใช้ถึง 33 เส้น แต่ทางทีมพัฒนาใช้เพียง 7 เส้น ก็สามารถสร้างเตาแก๊สชีวมวลได้ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าเตาแก๊สชีวมวลตามท้องตลาด และมีประสิทธิภาพให้ความร้อนสูงกว่า สามารถปรับความแรงของเปลวไฟได้ หรือมีลักษณะคล้ายกับไฟในเตาแก๊ส